21 วัน 21 พฤติกรรม ช่วยลดขยะอาหาร ช่วยลดโลกร้อน
- 607 Views
- Media News Firs
- August 25, 2023
- ความรู้ สุขภาพ อาหาร เทคโนโลยี
จากทฤษฎีที่ว่า เมื่อเราทำอะไรต่อเนื่องติดต่อกันจนครบ 21 วัน พฤติกรรมนั้นจะกลายเป็นนิสัยติดตัวเราไปเลย วันนี้เราจึงขอมาชวนทุกคนใช้ทฤษฎีดังกล่าว กับการลดขยะอาหาร หรือ Food Waste หนึ่งในสาเหตุของ Climate Change หรือ สภาพอากาศแปรปรวน อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน เพราะขยะอาหารไม่สามารถนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาไหม้ได้ ทำให้ต้องขนไปทิ้งยังหลุมฝังกลบ สะสมจนกลายเป็นขยะเน่าเสีย รอให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ และปล่อยก๊าซมีเทนจำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ กลายเป็นส่วนประกอบของก๊าซเรือนกระจก จนนำไปสู่ภาวะโลกร้อน และย้อนกลับมาทำร้ายพวกเราทุกคนในรูปแบบภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้
เห็นได้ชัดว่าขยะอาหารส่งผลกับโลกของเรามากกว่าที่คิด แต่ถ้าทุกคนร่วมใจกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ทำให้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านส่วนตัวและภาพส่วนรวมแน่นอน
- กินอาหารทุกมื้อให้หมดจาน
หากไม่แน่ใจว่าจะทานอาหารหมดหรือไม่ ให้ตักอาหารใส่จานน้อย ๆ ก่อน หากไม่อิ่มแล้วจึงค่อยเติม หรือถ้าไปทานอาหารตามร้าน อาจสั่งลดปริมาณลงแม้ต้องจ่ายเงินเท่าเดิม แต่เพิ่มเติมคือเราสามารถทานอาหารหมดจาน ไม่เหลือทิ้งให้เป็นขยะอาหาร
- อย่าทิ้ง! เก็บไว้กินมื้ออื่น
เมื่อทานอาหารไม่หมดจริง ๆ อย่าทิ้ง แต่ให้เก็บไว้ทานมื้อต่อไปได้ โดยอาจใส่ภาชนะปิดให้มิดชิด กันฝุ่นและแมลง หรือนำใส่ตู้เย็นและนำไปอุ่นร้อนเมื่อจะทาน แต่ถ้าไปทานตามร้านอาหารนอกบ้าน อาจพกกล่องข้าวติดตัวด้วย หากทานไม่หมดก็สามารถเก็บใส่กล่องกลับบ้านไว้ทานมื้อต่อไป หรือนำไปให้สัตว์จรจัดแทนก็ได้ (แต่ต้องเป็นอาหารที่สัตว์ทั่วไปกินได้ด้วยนะ)
- ตรวจสอบวันใกล้หมดอายุ
คอยตรวจสอบวันหมดอายุของอาหารที่ซื้อมาเสมอ เพื่อจะได้จัดการปรุงอาหารที่ใกล้หมดอายุก่อน จะได้ไม่ต้องทิ้งอาหารเพราะหมดอายุก่อนทาน
- ปรุงอาหารด้วยของใกล้หมดอายุก่อน
จากข้อที่ 3 หลังจากที่ตรวจสอบวันใกล้หมดอายุ จัดเรียงตามลำดับเรียบร้อย ก็นำอาหารหรือวัตถุดิบที่ใกล้หมดอายุก่อนอันอื่น ๆ มาปรุงอาหาร
- วางแผนและจดรายการที่ต้องการซื้อให้พอดี
ตรวจสอบและทำรายการของที่ต้องซื้อให้พอดี เพื่อจะได้ไม่ซื้อซ้ำกับที่มีอยู่แล้ว นอกจากจะเพิ่มปริมาณจนอาจทานไม่ทันและต้องทิ้งเป็นขยะอาหาร ยังทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย
- เลือกซื้อผักรูปร่างไม่สวย
ผักรูปร่างไม่สวย แต่ยังสามารถทานได้ และสารอาหารที่มีประโยชน์ก็ยังคงมีครบถ้วน การซื้อผักที่ไม่สวย ช่วยให้ไม่ผักเหล่านั้นไม่ต้องถูกคัดทิ้ง เพราะไม่มีใครต้องการ ซึ่งมีขยะอาหารจำนวนมากในโลกนี้ ถูกทิ้งเพียงเพราะมีรูปร่างไม่สวย หรือขนาดไม่ได้มาตรฐาน
- เรียนรู้วิธีเก็บวัตถุดิบให้ถูกวิธี
ศึกษาหาข้อมูลวิธีการเก็บวัตถุดิบแต่ละชนิดให้เหมาะสม เพื่อยืดอายุของวัตถุดิบต่าง ๆ ให้เก็บได้นานมากขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้สามารถหาข้อมูลจากช่องทางต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ ทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นจากการเสิร์ชหาข้อมูลจากกูเกิล หรือช่องยูทูปต่าง ๆ
- เก็บวัตถุดิบให้ถูกวิธี
เมื่อรู้วิธีการเก็บวัตถุดิบแต่ละชนิดแล้ว ก็นำเก็บให้เหมาะสมกับวัตถุแต่ละชนิด เพื่อไม่ให้เน่าเสียเร็วจนกินไม่ทัน
- นำของสดเข้าช่องฟรีซ
วัตถุดิบประเภทของสดที่ควรแช่แข็ง ให้นำเข้าแช่ช่องฟรีซเพื่ออายุ เพราะของสดเน่าเสียง่าย
- ทำความสะอาดตู้เย็น
เรามักจะยัดอาหารแทบทุกอย่างใส่ตู้เย็น ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป อาหารกินเหลือ ผัก ผลไม้ รวมไปถึงของสด ทำให้ตู้เย็นเป็นที่เก็บอาหารสารพัดประเภท เสี่ยงต่อการกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค การทำความสะอาดตู้เย็น เพื่อขจัดและลดการสะสมเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ปะปนมากับอาหาร ไม่ให้เจริญเติบโตในตู้เย็น
- จัดระเบียบตู้เย็น
การเคลียร์และจัดระเบียบตู้เย็น นำวัตถุดิบเก่าหรือใกล้หมดอายุมาไว้ด้านหน้า จะช่วยให้เราจัดการอาหารที่ใกล้หมดอายุ และนำมาปรุงทานแทนที่จะเททิ้ง
- ล้างผัก ผึ่งให้แห้ง แล้วนำเก็บใส่กล่อง
เนื่องจากอุณหภูมิในตู้เย็นเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดได้ การล้างผัก ก่อนนำเข้าแช่ตู้เย็น จะช่วยป้องกันไม่ให้ตู้เย็นกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อโรค และการผึ่งให้แห้ง เพื่อไม่ให้ผักเน่าเสีย
- ปรุงเมนูอาหารใหม่ด้วยวัตถุดิบที่เหลือ
นำเศษผัก เศษวัตถุดิบที่เหลือ ๆ มาปรุงเป็นเมนูใหม่ ๆ แม้ว่าของที่มีอยู่อาจไม่ใช่สูตรดั้งเดิมที่จะนำมาทำเมนูอาหารที่คุ้นเคยได้ แต่เราสามารถนำครีเอท สร้างสรรไอเดียเมนูใหม่ ๆ จากอาหารเหลือ ๆ ภายในตู้เย็นได้ นาอกจากจะได้กำจัดของเหลือโดยไม่ต้องทิ้งให้กลายเป็นเศษขยะอาหาร ยังได้รสชาติใหม่ ๆ เผลอ ๆ ได้เมนูอาหารสูตรใหม่ที่เป็นอาหารจานโปรดประจำบ้าน หรือนำไปต่อยอดขายสร้างรายได้ ใครจะรู้
- เลือกร้านอาหารที่ไม่ใช่บุฟเฟ่ต์
เมื่อจะทานอาหารนอกบ้าน เลือกร้านอาหารที่ไม่ใช่ประเภทบุฟเฟ่ต์ เพราะขยะอาหารจำนวนมากมักมาจากธุรกิจร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ เนื่องจากลูกค้ามักจะเลือกทานตักแต่อาหารที่ตนชอบ และส่วนใหญ่จะตักอาหารจำนวนมากเกินพอดี เพราะถือเอาคุ้มจ่าย แต่กลับทานไม่หมด จนกลายเป็นขยะอาหารในที่สุด
- สั่งอาหารเดลิเวอรีให้พอกิน
หลายคนนิยมความสะดวก เลือกสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ และแอปสั่งอาหารมักจะมีโปรโมชันลดราคามากมาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งอาหารมากเกินพอดี กินไม่หมด และทิ้งในที่สุด
- นำผักที่ซื้อมาไปปลูกต่อ
ผักหลายชนิดที่ซื้อมาจากตลาดหรือซุปเปอร์มาเก็ต สามารถนำไปปลูกต่อได้ โดยผักที่นำไปปลูกต่อได้ เช่น ผักชี ใบกะเพรา กระเทียม หัวหอม เป็นต้น สามารถหาวิธีปลูกแบบง่าย ๆ ได้จากอินเทอร์เน็ต หรือหนังสือคู่มือ นอกจากจะช่วยให้ได้กินผักออแกนิกปลูกเอง ยังช่วยประหยัดในการซื้อผักชนิดนั้น ๆ ในครั้งต่อไป
- บริจาคอาหาร
อาหารที่มีมากเกินพอดีกิน หากรู้ตัวว่ากินไม่หมด กินไม่ทัน ควรนำอาหารที่ยังไม่หมดอายุ อาหารที่ยังกินได้ ไปแบ่งปันให้กับผู้อื่น หรือให้คนจรจัด คนไร้บ้าน รวมถึงการนำอาหารเหลือทิ้งที่ยังกินได้ให้แก่สัตว์จรจัด เป็นการแบ่งปันให้ชีวิตอื่นได้อิ่ม และไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
- แยกขยะอาหาร
เศษอาหารที่จำเป็นต้องทิ้ง ควรแยกออกจากขยะประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ไม่ปนเปื้อนเศษอาหาร เพราะหลายครั้งที่ขยะรีไซเคิลที่เปื้อนเศษอาหารจนไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ ต้องนำไปทิ้งยังหลุมฝังกลบ หรือกำจัดด้วยการเผาทำลายทิ้ง สิ้นเปลืองพลังงาน สิ้นเปลืองงบประมาณ และเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ทำน้ำหมักชีวิภาพจากขยะเศษอาหาร
การทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษขยะอาหาร ใช้บำรุงดินและรดน้ำต้นไม้ เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้ต้นไม้และพืชผักได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี ได้ทานผักปลอดสารเคมี ดีต่อสุขภาพ
- ทำปุ๋ยหมักด้วยเศษอาหาร
นำขยะเศษอาหารในบ้านไปทำเป็นปุ๋ยหมักบำรุงต้นไม้ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี ลดขยะ แต่เพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิต ได้กินผักไร้สารเคมี ได้พืชผักออแกนิก และที่สำคัญคือได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน
- แชร์และบอกต่อ
นำวิธีการลดขยะอาหารที่ทำเองแล้วได้ผล แชร์และบอกต่อคนใกล้ชิดและคนอื่น ๆ จะได้เกิดการร่วมมือกัน และเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ จนสามารถลดขยะอาหารได้อย่างจริงจังและยั่งยืน
เพียงปรับเปลี่ยน 21 พฤติกรรม ทำติดต่อกันให้ได้ 21 วัน จนกลายเป็นนิสัย และทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้ เราก็จะเห็นผลได้อย่างชัดเจน ขยะอาหารลดลง โลกก็จะน่าอยู่ขึ้นไปอีกนานแสนนาน