เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีสุขภาพจิตดี แบบ…มาตาลดา
- 393 Views
- Media News Firs
- July 14, 2023
- บ้านและสวน สุขภาพ
ได้มีโอกาสลองเปิดดูเรื่อง มาตาลดา เห็นได้ว่านางเอกของเรื่องที่ชื่อเดียวกับละครเรื่องนี้คือ มาตาลดา เป็นผู้หญิงที่แม้อายุใกล้จะ 30 ปีแล้ว (ในเรื่อง) แต่ก็ยังมีความสดชื่น สดใส มีความสุขอยู่เสมอ ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่มีสุขภาพจิตที่ดี
เมื่อได้เห็นครอบครัวของมาตาลดาที่ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบที่เป็นปกติแบบครอบครัวทั่วไป แต่กลับเป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่นหัวใจเหลือเกิน โดยเฉพาะคำสอนของผู้เป็นพ่อที่แม้ว่าจะเป็น LGBTQ+ แต่มีคำสอนที่ดี และปลูกฝังลูกสาวตัวน้อยให้เติบโตจนกลายเป็นคนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข และมี mindsets ที่ดีอยู่เสมอ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากโลกใบนี้มีคนจิตใจดีอย่างมาตาลดาที่เราสามารถเจอได้ทุกหนแห่ง คงดีมาก ๆ
และเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็แอบหลงรักตัวละครตัวนี้เช่นกัน วันนี้เราเลยขอนำแนวทางในการเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีสุขภาพจิตดีแบบมาตาลดา ซึ่งหัวข้อหลักรวบรวมมาจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กโดยเฉพาะจากเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขามาฝากค่ะ
มีเวลาและมอบความรักให้อย่างเต็มเปี่ยม
พ่อแม่ควรมอบความรัก มีเวลาให้ลูก ทำกิจกรรมกับลูก แม้จะต้องทำงานแต่ก็ควรหาเวลาคุยกับลูก เล่นกับลูกด้วย รับฟังในสิ่งที่ลูกบอกเล่า อย่ารีบปัด อย่ารีบปฏิเสธ การรับฟังและการใช้เวลาร่วมกันกับลูก จะทำให้ลูกรู้สึกได้รับความรัก รู้สึกว่าตัวเองมีค่าพอที่จะได้รับความรัก และเห็นผู้อื่นมีค่าพอที่จะได้รับความรัก ความปรารถนาดีเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เด็กจะเชื่อใจและรู้สึกว่ามีที่รองรับพวกเขาเสมอไม่ว่าจะเจอปัญหาหนักหนาแค่ไหนก็ตาม
เข้าใจพัฒนาการพื้นฐานของเด็ก
เข้าใจการพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย รู้ว่าลูกอยู่ในวัยนี้สามารถทำอะไร หรือยังทำอะไรไม่ได้บ้าง ไม่เร่งรัดหรือกดดัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เพราะลูกไม่ใช่เครื่องมือในการวัดหน้าตาในสังคม แต่ลูกคือเมล็ดพันธุ์ที่จะเจริญเติบโตไปเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงและงดงามได้ หากคนปลูกอย่างพ่อแม่ช่วยรดน้ำและใส่ปุ๋ยที่ตรงกับความต้องการของชนิดเมล็ดพันธุ์ได้อย่างเหมาะสม ไม่มากไป ไม่น้อยไป ยังมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองบางส่วนที่ยังคงใช้เด็กเป็นเครื่องมือวัดคุณภาพในการเลี้ยงดูของตนเอง เคร่งครัดและกดดันให้เด็กเรียนรู้ หรือทำกิจกรรมเกินความสามารถของวัย เพื่อโอ้อวดคนอื่น แม้เด็กบางคนอาจจะได้ผลลัพท์ตามที่ต้องการ แต่สภาพจิตใจกลับแย่และส่วนมากเมื่อเติบโตไปกลายเป็นคนเก็บกด เครียดง่าย และหาความสุขในชีวิตได้ยาก
ยอมรับในตัวตนของลูกอย่างจริงใจ
คนเราทุกคนมีความเป็นเอกลักษณ์และตัวตนที่แตกต่างกันไป มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ซึ่งเป็นปกติของมนุษย์ทั่วไป ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100% ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนต้องการความเพียบพร้อม แต่ก็ไม่สามารถเพอร์เฟกต์ได้ในทุกเรื่อง ดังนั้น จึงไม่มีใครดีกว่าหรือแย่กว่าใคร การยอมรับในตัวตนของลูก และสอนให้เขาเข้าใจและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มั่นใจ มีความภาคภูมิใจในตัวตน สามารถเข้าใจและให้การยอมรับในตัวตนของผู้อื่นที่แตกต่างจากตัวเอง
สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเอง
พ่อแม่ทุกคนย่อมมีความห่วงใยและเป็นห่วงลูก แต่ควรสอนให้เขาได้เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตนเองได้อย่างเหมาะสมตามวัย อย่าทำอะไรให้หรือคอยช่วยเหลือเขาทุกอย่าง จนอาจทำให้เด็กติดความสบาย เพราะมีคนคอยทำให้ตลอดเวลา จนกลายเป็นความเคยชิน ทำอะไรเองไม่เป็น เมื่อโตขึ้นไปจะไม่สามารถเอาตัวเองรอดได้ หากไม่มีใครคอยให้ความช่วยเหลือ ความห่วงใยของพ่อแม่ที่มากเกินไป อาจกลายเป็นการรังแกลูกในอนาคตโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่างคำที่ว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” ควรให้ลูกหัดทำอะไรด้วยตัวเอง อาจมีผิดมีถูกบ้าง แต่ลูกจะมีความภูมิใจที่ได้ทำด้วยตนเอง และมีความมั่นใจในตัวเองในทางที่ดี
ชมเชยเมื่อเห็นลูกทำได้ดี
เมื่อลูกมีความพยายามที่จะทำสิ่งใด หรือทำอะไรด้วยความตั้งใจ ควรให้คำชมเชย แม้ว่าผลลัพท์อาจจะออกมาไม่ดี ลูกทำไม่สำเร็จ แต่ให้ชมและชี้ให้เห็นว่าคุณกำลังชื่นชมในความพยายามของเขามากกว่าการคาดหวังที่เขาจะต้องทำให้ได้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญกว่า ให้กำลังใจและเชื่อมั่นในตัวเขาว่าจะสามารถทำได้ในโอกาสหน้า จะทำให้เด็กไม่ย่อท้อ และมีกำลังใจที่จะพัฒนาความสามารถของตนเองให้ดีกว่าเดิม และชมเชยเมื่อเห็นลูกทำได้สำเร็จ หรือทำสิ่งใดได้ดีเป็นพิเศษ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูก
สอนให้รู้จักรับผิดและมีความรับผิดชอบเมื่อกระทำผิด
เมื่อลูกกระทำสิ่งใดผิด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ควรให้เรียนรู้การยอมรับผิด สำนึกความผิดของตน และมีความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง โดยควรอธิบายด้วยเหตุและผล เพื่อให้เขาเข้าใจว่าตนทำผิดอย่างไร ทำไมจึงไม่ควรทำแบบนั้น และทุกคนสามารถทำผิดได้ แต่ควรปรับปรุงตัวหรือแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อจะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก และไม่ควรลงโทษด้วยความรุนแรง เพราะจะเป็นการปลูกฝังความรุนแรงในตัวลูกโดยไม่รู้ตัว และอาจทำผิดซ้ำ ๆ เดิม ๆ เพียงเพราะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงเช่นนั้นไม่ได้
สอนให้ลูกรู้จักจัดการอารมณ์
เมื่อลูกมีความรู้สึกในทางลบ เช่น โกรธ หรือ เสียใจ ก็ให้เข้าใจและทันกับอารมณ์ตัวเองที่เป็นอยู่ ให้เข้าใจว่าสามารถโกรธได้ เสียใจได้ แต่ไม่ควรทำอะไรตามอารมณ์จนเกิดผลเสียต่อตนเองและคนรอบข้าง เพราะผลที่เกิดขึ้นจากกระทำนั้น อาจเกินความสามารถที่ลูกจะรับได้ไหว ซึ่งการจะสอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ต้องเป็นตัวอย่างให้พวกเขาเห็นด้วย
สอนให้ลูกมีระเบียบวินัย
สอนให้ลูกรู้จักการมีระเบียบและวินัยต่อตนเองและผู้อื่น เรียนรู้ที่จะอดทน อดกลั้น รู้จักที่จะรอ สามารถยับยั้งชั่งใจได้ เพื่อให้เขาสามารถเติบโตและอยู่ร่วมกับผู้อื่นและสังคมได้อย่างไม่ลำบาก เพราะหากตามใจลูกในทุกเรื่อง จนเด็กไม่รู้จักที่จะอดทน ไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย เอาแต่ใจตนเอง จะไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของโลก จะทำให้เขาอยู่กับคนอื่นได้ยาก ไม่มีใครยอมรับ
ดังนั้น ควรสอนให้เขารู้จักควบคุมตนเองให้ได้ตั้งแต่ยังเด็ก เช่น เมื่อลูกอยากได้ของเล่นทั้งที่เพิ่งซื้อไป หรือคุณอาจไม่สะดวกที่จะซื้อในเวลานั้น ก็บอกเขาด้วยเหตุผล ไม่ซื้อให้เพื่อตามใจ แต่ถ้าเห็นว่าเขาชอบและอยากได้จริง ๆ อาจสอนให้เขารู้จักเก็บเงินเพื่อซื้อเอง เช่น ให้ข้อเสนอเงินค่าจ้างในการช่วยงานบ้าน หรือให้เขาเก็บเงินค่าขนมที่ได้ในแต่ละวันหยอดกระปุก เพื่อนำไปซื้อของเล่นที่ต้องการ นอกจากจะทำให้เขาได้รู้จักที่จะอดทนรอ ยังปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยออมเงิน และรู้จักคุณค่าของเงินที่ได้มา ช่วยให้ลูกรู้จักการใช้เงินและเก็บเงินเป็น
อย่าเปรียบเทียบลูกของเรากับลูกคนอื่น
แม้ว่าลูกคนอื่นจะเก่งมากแค่ไหน ก็ให้รู้สึกชื่นชมได้ แต่ไม่ควรพูดเปรียบเทียบกับลูกตัวเองเด็ดขาด หรือแม้แต่พูดเพราะอารมณ์โกรธก็ตาม เพราะความสามารถของแต่ละคนแตกต่างกัน ซึ่งลูกของคุณอาจมีความสามารถทำอย่างอื่นได้ดี ลองมองหาความสามารถนั้นของเขาให้เจอ แล้วสนับสนุนและส่งเสริมเขาในสิ่งนั้น ๆ ให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้น ๆ ดีกว่า นอกจากจะทำให้เด็กได้ภูมิใจกับสิ่งที่ตนทำได้ดีแล้ว ยังสร้างความภูมิใจให้กับผู้เป็นพ่อแม่ และไม่แน่ว่าพวกเขาอาจทำได้ดีจนกลายเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาพ่อแม่ได้ในอนาคต
ให้ลูกรู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเอง
เมื่อลูกมีปัญหา อย่ารีบยื่นมือเข้าไปช่วยทันที หรือช่วยเหลือลูกในทุกเรื่อง ควรให้เวลาเขาได้ลองแก้ปัญหาด้วยตนเองเท่าที่ทำได้ก่อน โดยให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ ถ้าเห็นแล้วว่าลูกทำไม่ไหว หรือเขาขอให้ช่วย จึงค่อยช่วย เพราะการปล่อยให้ลูกเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง จะทำให้เด็กได้รู้จักคิดหาวิธีแก้ปัญหา มีประสบการณ์ที่ได้ลองผิดลองถูก แม้ว่าในที่สุดเขาอาจจะแก้ปัญหาไม่ได้ หรือสามารถทำได้เพียงบางส่วน จนสุดท้ายคุณต้องเข้าไปช่วย แต่มันจะเป็นประสบการณ์ที่ให้เด็กได้เรียนรู้ และลูกจะรู้สึกภูมิใจที่พ่อแม่เชื่อใจในตัวเขาให้ได้ทำด้วยตนเองก่อน สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตนเอง และกล้าเผชิญกับอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต
ซึ่งคุณหมอผู้ที่ให้คำแนะนำนี้ได้กล่าวอีกว่า ลักษณะการเลี้ยงและคำสอนของคุณพ่อของมาตาลดามีความคล้ายกับทั้งหมดที่กล่าวมานี้ และอาจเป็นเพราะคนที่เป็นพ่อเข้าใจในตัวลูกสาว และเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ให้ความใกล้ชิดและความอบอุ่น จึงทำให้มาตาลดาเติบโตเป็นคนที่มีจิตใจดี มองโลกในแง่ดีที่อยู่บนฐานแห่งความเป็นจริงของยุคสมัย และพร้อมที่จะมอบความสดใส ความจริงใจให้กับคนรอบข้างเสมอ หากพ่อแม่คนไหนอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกอย่างไรให้เข้าใจ ก็สามารถไปติดตามเพจที่เราได้เอ่ยไว้แล้วข้างต้นได้เลยนะ มีสาระดี ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่คนเป็นพ่อแม่และผู้ปกครองทุกคนค่ะ