เคล็ดลับเพิ่มน้ำนมแม่ แก้ปัญหาน้ำนมน้อย สำหรับคุณแม่มือใหม่
- 916 Views
- Media News Firs
- June 21, 2023
- ความรู้ สุขภาพ อาหาร
ทำไมจึงมีการรณรงค์ให้เด็กดื่มน้ำนมแม่? เพราะน้ำนมแม่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก เด็กที่ได้รับน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ จะมีการพัฒนาทั้งในส่วนของ ระบบประสาท สมอง และอวัยวะต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การที่เด็กทารกได้ดื่มนมแม่ ยังเป็นการสานใยสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างแม่และลูกน้อย เพราะระหว่างดื่มนมจะทำให้ลูกได้สัมผัสความรักและความอบอุ่นจากผู้เป็นแม่อย่างเต็มที่
แต่คุณแม่หลายคนอาจเจอปัญหาน้ำนมน้อย ทำให้กังวลว่าน้ำนมไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย และอาจส่งต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตของลูกน้อย แม้ว่าปัญหาน้ำนมน้อยจะสามารถพบได้ แต่ก็มักจะเป็นปัญหาที่พบไม่มากนัก เพราะร่างกายของผู้หญิงที่มีการตั้งครรภ์ จะมีการผลิตน้ำนมออกมาได้มากและเพียงพอต่อความต้องการของทารก แต่อาจมีบางปัจจัยที่ทำให้น้ำนมออกมาน้อยในช่วงที่ป้อนนม เราจึงได้รวบรวมวิธีเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำนมไม่พอ ช่วยเติมเต็มให้ลูกน้อยได้อิ่มท้องด้วยน้ำนมแม่มาฝากในบทความนี้แล้วค่ะ
น้ำนมน้อยดูได้จากอะไร
สำหรับคุณแม่ที่กังวลว่าน้ำนมของตนอาจมีน้อย ห่วงว่าน้ำนมไม่เพียงพอ กลัวลูกรักจะไม่อิ่ม เรามีวิธีสังเกตว่าน้ำนมน้อยเกินไปสำหรับลูกน้อยหรือไม่ โดยสังเกตจากอาการของทารก ดังนี้
- น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ หากน้ำหนักลดลงมากกว่า 10% หลังคลอด และน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ อาจเป็นไปได้ว่า ลูกได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ
- ลักษณะการดูดนมของทารก เช่น ไม่ยอมดูดนม คายเต้าออกเอง หลับทั้งที่ยังไม่คายเต้า หรือไม่เห็นมีการกลืนน้ำนม
- ปริมาณและความถี่การถ่ายอุจจาระของลูกน้อยกว่าปกติ โดยปกติการถ่ายของเด็กทารกควรถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 2-3 ครั้ง / วัน และปัสสาวะอย่างน้อย 6 ครั้ง / วัน นอกจากนี้ควรสังเกตสีของอุจจาระด้วยเช่นกัน ซึ่งอุจจาระควรมีลักษณะนิ่มและมีสีเหลือง จากที่เคยมีสีน้ำตาลเทาในช่วงแรกเกิด
พฤติกรรมของทารกที่อาจทำให้คุณแม่เข้าใจผิดคิดว่าน้ำนมไม่พอ
- ลูกใช้เวลาดูดนมน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะนิสัยการดูดนมเร็วของทารก
- ลูกต้องการดูดนมมากกว่าปกติ หรือหลังจากดูดนมแล้วไม่มีอาการง่วง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่เริ่มโตขึ้น
- ลูกร้องไห้งอแง ตื่นง่าย หรือต้องการให้อุ้มบ่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทารก
- ปั๊มนมแล้วได้ปริมาณน้ำนมน้อย เป็นเรื่องปกติ เพราะทารกสามารถดูดนมได้มากกว่าการปั๊มน้ำนมจากเครื่องปั๊มหรือการปั๊มน้ำนมด้วยมือ
- เต้านมแม่เล็กหรือนิ่มกว่าปกติ หรือไม่มีน้ำนมไหลจากเต้า ซึ่งเกี่ยวกับสรีระร่างกาย ไม่ใช่ปัจจัยหรือสาเหตุที่จะทำให้คุณแม่มีน้ำนมน้อย
เคล็ดลับการเพิ่มน้ำนมแม่
- การนวดกระตุ้นน้ำนม โดยวิธีนวดเต้าหลังคลอด คือ การนวดเบา ๆ บริเวณเต้านม ก่อน และ ระหว่าง การป้อนนม หรือขณะปั๊มนม เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นให้น้ำนมหลั่งได้ดีขึ้น
- การให้แม่และลูกสัมผัสแบบ Skin to skin contact คือ การให้คุณแม่ได้กอดทารกไว้แนบอก ให้ผิวหนังของแม่และลูกน้อยได้สัมผัสกัน เป็นวิธีช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโพรแลคติน และ ฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญของกระบวนการผลิตน้ำนม
- ปั๊มน้ำนมที่ค้างอยู่ในเต้านมแม่ออกหลังจากการป้อนนม โดยปั๊มนมด้วยเครื่อง หรือปั๊มนมด้วยมือ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจากการคัดเต้านม และเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมอย่างสม่ำเสมอ
- ปั๊มนมด้วยวิธี Power Pumping คือ วิธีกระตุ้นน้ำนมโดยเลียนแบบวิธีการดูดนมของทารก เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำนมจากเต้า อาจกำหนดการปั๊มนมอย่างต่อเนื่องวันละ 2-3 ครั้ง โดยในแต่ละรอบควรพัก 5-10 นาที
- คุณแม่ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทำใจให้ผ่อนคลาย พักผ่อนให้มาก ไม่ควรเครียด ลดการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีบางชนิด งดการสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาหรืออาหารเสริมทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะซื้อยาชนิดใด หรือทานยากรณีที่แพทย์สั่งเท่านั้น เพราะยาหรืออาหารเสริมบางชนิด อาจส่งผลกระทบต่อการให้นม หรือมีผลต่อความปลอดภัยของทารกผ่านน้ำนมได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้น้ำนมแม่ไหลได้ดีที่สุด คือ การให้ลูกดูดนมจากเต้า ยิ่งให้ทารกดูดนมบ่อย ๆ จะยิ่งกระตุ้นกลไกของร่างกายให้ผลิตน้ำนมออกมามากขึ้น แต่ถ้าหลังคลอดไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ลูกไม่ยอมเข้าเต้าเพื่อดูดนมแม่ หรือพบว่าคุณแม่มีน้ำนมไหลออกมาน้อย ควรทำการปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว หรือเคยได้รับยาที่อาจส่งผลต่อการผลิตน้ำนม จะได้หาวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารจากน้ำนมแม่ได้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและมีสุขภาพแข็งแรงสมวัย