แนวคิด ESG คืออะไร มีบทบาทต่อธุรกิจอย่างไร ทำไมจึงดึงดูดคนอยากร่วมงานด้วย
ปัจจุบัน นักลงทุนบุคคล (Individual Investor) และ นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ให้ความสำคัญในการลงทุนแบบยั่งยืน หรือ การลงทุนตามแนวคิด ESG ซึ่งมีผลสำรวจพบว่า พอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันร้อยละ 80 มีการจัดสรรการลงทุนกับองค์กรที่มีดำเนินธุรกิจตามหลักการ ESG อีกทั้งผู้แนะทำทางการเงินได้มีการแนะนำกองทุนแบบ ESG กับนักลงทุนมากขึ้น เนื่องจากมีผลการวิจัยจากตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนที่เน้นความยั่งยืนอาจมาซึ่งผลตอบแทนที่มากกว่ารูปแบบอื่น
จากผลสำรวจในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เห็นได้ว่า การลงทุนแบบยั่งยืนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีอิทธิพลในตลาดการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยดัชนีความยั่งยืน หรือ Sustainability Index คือ ดัชนีที่ชี้วัดว่าผู้ประกอบการ บริษัท และ องค์กรต่าง ๆ ได้มีการดำเนินการธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG อย่างไร มากหรือน้อยแค่ไหน เช่น ดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) หรือ MSCI ESG Index เป็นต้น ส่วน ESG ในไทย ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการตั้งเกณฑ์หุ้นยั่งยืน หรือ THSI ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืนที่สามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนได้เป็นอย่างมาก
ESG คืออะไร
ESG คือ แนวคิดเพื่อความยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นักธุรกิจนำมาใช้เป็นปัจจัยในการเลือกลงทุน โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลกำไรเป็นตัวเงินเท่านั้น แต่นำหลักการ 3 ด้าน มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วยเช่นกัน
หลักการ ESG มีอะไรบ้าง และ ESG ย่อมาจากอะไร
แนวคิด ESG มาจากหลักการ 3 สิ่งรวมเข้าด้วยกัน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมภิบาล โดยธุรกิจที่มุ่งเน้น ESG มีหลักการและหลักเกณฑ์ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ประกอบไปด้วย
- E : Environment คือ สิ่งแวดล้อม
หลักการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีศักยภาพ และเกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงการรักษาและฟื้นฟูธรรมชาติ ลดการทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือทำลายแหล่งธรรมชาติ ประเมินภาพรวมองค์กร ทั้งในด้านความเสี่ยง โอกาส และผลกระทบที่องค์กรอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น
- การปล่อยมลพิษทางอากาศ
- การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
- การใช้พลังงานและประสิทธิภาพ
- การทำลายความสมดุลทางชีวภาพ
- S : Social คือ สังคม
การคำนึงถึงสังคมในข้อนี้ ทรัพยากร คือ คน ซึ่งมีค่าต่อสถานที่และองค์กร ใช้หลักการบริหารงานบุคคลให้มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงสุขภาพและสิทธิของพนักงานเป็นหลัก ให้มีความเท่าเทียม ไม่เอาเปรียบ รวมถึงการเอาใจใส่ลูกค้า และผู้คนในสังคม
หลักการ ESG ทางสังคม หมายถึง การจัดการขององค์กรที่เกี่ยวกับการดูแลกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น พนักงาน ลูกค้า บริษัทคู่ค้า รวมไปถึงบุคคลอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยใช้เกณฑ์การประเมินต่าง ๆ เช่น
- ค่าจ้างที่เป็นธรรมแก่พนักงาน
- การส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานพื้นฐาน
- ความปลอดภัยต่อสุขภาพกายและใจของพนักงาน
- ความพึงพอใจของลูกค้าที่ใช้บริการ
- G : Governance คือ ธรรมาภิบาล
การดำเนินธุรกิจโปร่งใส ดำเนินงานทุกอย่างโดยสุจริตและเป็นมีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สามารถตรวจสอบได้ เช่น
- ดำเนินธุรกิจด้วยจริยธรรม
- ความโปร่งใสทางการเงินและความซื่อสัตย์ทางธุรกิจ
- มีโปรแกรมแจ้งเบาะแสการทุจริตในองค์กร
- กฏเกี่ยวกับการทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อน การติดสินบน และ การบริจาค
แนวคิด ESG มีบทบาทต่อธุรกิจอย่างไร และทำไมจึงดึงดูดคนให้อยากร่วมงานด้วย
ธุรกิจที่ใช้หลัก ESG ในการดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ภาพลักษณ์องค์กรมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะบ่งบอกถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการหาผลประโยชน์จากธุรกิจการค้าเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังให้ความใส่ในและมีความเป็นธรรมแก่พนักงาน บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ทำให้กลายเป็นแม่เหล็กชนิดดีที่ดึงดูดให้ผู้คนต้องการร่วมงานกับองค์กร
เนื่องจากผู้คนให้ความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะ Gen Z เป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจและชอบมองหาสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม คุณค่าและความเท่าเทียมของผู้คนในสังคม และความยุติธรรม ไม่เอาเปรียบพนักงาน หากองค์กรที่มีแนวคิด ESG แบบนี้ จะยิ่งดึงดูดใจผู้คน และคน Gen Z ได้ง่ายขึ้น
แนวคิด ESG มีประโยชน์ต่อองค์กรอย่างไร
- รักษาพนักงานเก่า เพิ่มพนักงานใหม่
แนวคิด ESG ช่วยเพิ่มสิ่งที่พนักงานทุกคนต้องการ คือ “คุณค่า” หมายถึง การที่บริษัทหรือองค์ปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม ให้ความใส่ใจ เห็นความสำคัญของคนทำงาน เยียวยาใจเพื่อส่งเสริมการทำงาน เช่น เพิ่มเงินเดือน ให้โบนัส แจกของขวัญ เป็นการรักษาน้ำใจของพนักงานที่ต้องเหนื่อยในการทุ่มเทให้กับงานของบริษัท ช่วยลดปัญหาการลาออกของพนักงานได้ เปลี่ยนวลี คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า เป็น คนในไม่อยากออก คนนอกก็อยากเข้ามาทำงานด้วย
- เพิ่มเครดิต มีความน่าเชื่อถือ ดึงดูดลูกค้าใหม่
การนำแนวคิด ESG มาใช้บริหารในองค์กร ช่วยให้เกิดภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือแก่องค์กรได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านการจัดการแบบยั่งยืน การใส่ใจสิ่งแวดล้อม การรักษาน้ำใจพนักงาน เอาใจใส่ลูกค้า ดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ทำให้พนักงานมีคุณภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้า มีการบอกต่อถึงความประทับใจ ทำให้มีลูกค้าใหม่ต้องการมาใช้บริการ โดยแทบไม่ต้องทำการโฆษณาด้วยตัวเอง
ด้วยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ และเพื่อเป็นการสอดรับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้ธุรกิจและนักลงทุนหันมาให้ความสนใจในแนวคิด ESG มากขึ้น องค์กรแทบทุกภาคส่วนมีการนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่นำมาถึงภาพลักษณ์และความคุ้มค่า ทั้งการได้รับความเชื่อถือจากบุคคลภายนอก และความต้องการร่วมงานจากผู้คนทุกวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไฟแรง ยิ่งไปกว่านั้น หลักการ ESG ช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบ Sustainability อย่างเต็มตัว